วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ


การประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ


    การประเมินสารสนเทศ คืออะไร? ขั้นตอนการประเมินเพื่อคัดเลือกสารสนเทศที่เราได้จากการสืบค้นจากแหล่งต่างๆ 
เพื่อตรวจสอบความสำคัญ และคุณค่าของสารสนเทศว่าตรงตามความต้องการของเราหรือไม่ เช่น เนื้อหาเก่าเกินไปหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการหรือไม่ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่มีคุณค่า และนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง ทำไมจึงต้องประเมินสารสนเทศ? เพราะในการสืบค้นสารสนเทศอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการ และไม่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสารสนเทศนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงควรประเมินสารสนเทศเพื่อคัดเลือกสารสนเทศที่สอดคล้องกับความต้องการและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง การประเมินสารสนเทศที่ได้จากอินเทอร์เน็ต เราสามารถพิจารณาได้จาก : 1. ความเกี่ยวข้อง (Relevance) เป็นการพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นมีความเกี่ยวข้อง หรือตรงกับหัวข้อที่ต้องการ หรือไม่ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากชื่อเรื่อง และคำสำคัญ 2. ความถูกต้อง (Accuracy) เป็นการตรวจสอบเนื้อหาของสารสนเทศที่ได้ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก • การนำเสนอในลักษณะเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น มีความเป็นกลางหรือไม่ • มีโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบนเว็บไซต์หรือไม่ หากมีอาจทำให้สารสนเทศมีความลำเอียงได้ • มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ • มีการเขียนอ้างอิงหรือบรรณานุกรม 3. ความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำ (Authority) เป็นการพิจารณาว่าผู้จัดทำหรือผู้เขียน มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในหัวข้อเรื่องนั้นๆ หรือไม่ เช่นดูจากรายละเอียดเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบเว็บไซต์ จากหัวข้อ About us หรือดูจาก URL ที่ลงท้ายด้วย .edu, .ac, .org, .gov, .go.th ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น .com, .biz ตลอดจนมีที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกลับได้ ฯลฯ 4. ความทันสมัย (Currency) เป็นการพิจารณาถึงความทันสมัย หรือการปรับปรุงครั้งล่าสุด เช่น ดูว่าสารสนเทศนั้นมีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อใด สามารถดูได้จากวันที่ที่สร้าง / แก้ไขปรับปรุงเว็บไซต์ หรือดูจากวันเดือนปีของแหล่งที่มาที่นำมาอ้างอิง จริยธรรมในการใช้สารสนเทศ คือ การใช้สารสนเทศโดยชอบธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรมทางสารสนเทศ เช่น การนำข้อความหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ในงานของตน จะต้องเขียนอ้างอิงถึงผลงานที่นำมาอ้างทุกครั้ง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียนเดิม อีกทั้งยังช่วยผู้อ่านในการติดตาม ค้นหารายการอ้างอิงที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปได้ บรรณานุกรม ทักษะการรู้สารสนเทศ. (2548). พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ: ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. [[61518]]
การประเมินคุณค่าสารสนเทศ

          เกณฑ์ทั่วไปที่ใช้ในการประเมินสารสนเทศ มีดังนี้

    1 ความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำ (Authority/Creditability) พิจารณาได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือผู้แต่งหรือผู้จัดทำ เป็นนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นหรือไม่ และส่วนที่สองคือชื่อเสียงของสำนักพิมพ์หรือผู้จัดทำต้องแสดงให้เห็นถึงการควบคุมคุณภาพ เช่น การตรวจสอบเนื้อหาจากผู้ร่วมวิชาชีพในแต่ละสาขา ( Peer-reviewed )
       2 ความถูกต้องเที่ยงตรง (Accuracy) พิจารณาจากข้อเท็จจริงของเนื้อหาว่ามี ความเป็นกลางและถูกต้องตามวิชาการในศาสตร์นั้น ๆ ในช่วงเวลานั้น
       3 ความตรงต่อวัตถุประสงค์ในการใช้งาน (Objectivity) พิจารณาว่า สารสนเทศนั้นเหมาะสมกับการใช้งานเพียงไร
       4 กลุ่มเป้าหมายหรือระดับของสารนิเทศ (Intended audience/Level of information) หมายถึง ระดับความยากง่ายของเนื้อหาและการเรียบเรียง ซึ่งผู้แต่งกำหนดขึ้นเพื่อผู้ใช้ในระดับต่างๆ เช่น นักเรียนระดับมัธยมศึกษา นิสิตระดับอุดมศึกษา นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็น ต้น
        5 ความทันสมัย (Date of publication) พิจารณาจากปีที่พิมพ์หรือปีที่ระบุว่าจัดทำสารสนเทศ
        6 ความสะดวกในการใช้งาน (Ease of use) คือ การพิจารณาว่ารูปแบบของสื่อที่สารสนเทศบันทึกอยู่สามารถนำมาใช้งานได้สะดวกสำหรับผู้ใช้แต่ละคนหรือไม่ ผู้ใช้บางคนอาจสะดวกที่จะใช้สารสนเทศที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์ ขณะที่อีกคนหนึ่งอาจสะดวกที่จะใช้แฟ้มข้อมูลคอมพิวเตอร์มากกว่าการประเมินคุณค่าสารสนเทศ
     ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/340418



ขั้นตอน การประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์สารสนเทศ






การประเมินสารสนเทศ

เป็นขั้นตอนในการประเมินเพื่อคัดเลือกสารสนเทศที่เราได้จากการสืบค้นที่มีคุณค่า  มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ เป็นการพิจารณาคัดเลือกจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ ทั้งจากห้องสมุด อินเทอร์เน็ต เป็นต้น สารสนเทศที่ไม่ใช้ เช่น เป็นสารสนเทศที่ไม่ตรงกับความต้องการ,เนื้อหาสารสนเทศล้าสมัย หรือ สารสนเทศนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ จากการประเมินสารสนเทศจะทำให้เราได้สารสนเทศที่มีคุณค่าและนำสารสนเทศไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม



หลักการประเมินสารสนเทศ

  1. ประเมินความตรงกับความต้องการสารสนเทศ 
       พิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการสารสนเทศของเราหรือไม่ ตรงมากน้อยเพียงใด โดยเลือกเรื่องที่ตรงกับความต้องการ ตัดทิ้งเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการ 
     
  วิธีการ คือ การอ่านเบื้องต้น ได้แก่ 
      การอ่านชื่อเรื่อง คำนำ  หน้าสารบัญ หรือเนื้อเรื่องย่อๆ  เพื่อพิจารณาว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการสารสนเทศหรือไม่ 
      ซึ่งส่วนใหญ่ ชื่อเรื่องของสารสนเทศก็อาจจะสามารถประเมินได้ทันทีว่า ตรงหรือไม่ตรง เนื่องจาก คำสำคัญเป็นคำเดียวกันกับความต้องการสารสนเทศและชื่อเรื่องของสารสนเทศ แต่หากชื่อเรื่องไม่บ่งชัดว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันอาจต้องพิจารณาจาก คำนำ สารบัญ และเนื้อหาโดยย่อ

      2. ประเมินความน่าเชื่อถือและความทันสมัยของสารสนเทศ
         พิจารณาว่าเป็นสารสนเทศที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงไร ซึ่งการประเมินความน่าเชื่อถือมีรายละเอียดที่ควรพิจารณา ได้แก่
          2.1 ประเมินความน่าเชื่อถือของ แหล่งสารสนเทศ โดยพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นได้มาจากแหล่งสารสนเทศใด โดยส่วนใหญ่ แหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือนั้นจะเป็นแหล่งสารสนเทศสถาบัน เช่น ห้องสมุด เนื่องจากสารสนเทศที่อยู่ในห้องสมุดได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเนื้อหาจากบรรณารักษ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแหล่งสารสนเทศอินเทอร์เน็ต จะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าหรือไม่มีความน่าเชื่อเลย คือ การรับรู้สารสนเทศจากอินเทอร์เน็ตนั้นเราต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองเนื้อหาเองว่าเนื้อหาจากเว็บไซต์ใดที่น่าเชื่อถือ
          2.2 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ทรัพยากรสารสนเทศ โดยพิจารณาว่า ทรัพยากรสารสนเทศหรือสารสนเทศนั้นๆ เป็นรูปแบบใด lสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อไม่ตีพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งพิมพ์ประเภทใด หนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร เป็นต้น 

          2.3 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ผู้เขียน ผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ โดยพิจารณาว่า ผู้เขียนมีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตรงหรือสอดคล้องกับเรื่องที่เขียนหรือไม่ รวมทั้งความน่าเชื่อถือผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ที่มีประสบการณ์ในเนื้อหาเฉพาะด้าน มักจะมีความน่าเชื่อถือในแวดวงวิชาการนั้นๆ หน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นภาครัฐบาล องค์กร สมาคม มักจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหน่วยงานภาคเอกชนหรือบุคคล 

               ตัวอย่าง เช่น กรณีที่เป็นบทความวิชาการ ให้พิจารณาว่า ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานั้นๆ มีชื่อเสียงในทางวิชาการ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายหรือไม่ ผู้เขียน/ผู้จัดทำ/สำนักพิมพ์มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และต้องมีความต่อเนื่องในการเผยแพร่

         2.4 ประเมินความทันสมัยของสารสนเทศ โดยหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์พิจารณาความทันสมัย จาก วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ หากเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาจาก วัน เดือน ปีที่เผยแพร่ เป็นต้น
     
       3. ประเมินระดับเนื้อหาของสารสนเทศ  ซึ่งระดับเนื้อหาสารสนเทศมี 3 ระดับ ได้แก่
   1. สารสนเทศปฐมภูมิ (Primary Information) มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เนื่องจากเป็นสารสนเทศที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าโดยตรงของผู้เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เช่น ต้นฉบับตัวเขียน จดหมายส่วนตัว รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ สิ่งพิมพ์รัฐบาล สารสนเทศประเภทนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือควรนำมาอ้างอิงมากที่สุด เพราะเป็นข้อมูลจริงที่ได้จากผู้เขียน และยังไม่ได้ผ่านการเรียบเรียงหรือปรับแต่งใหม่จากบุคคลอื่น
 2. สารสนเทศทุติยภูมิ (Secondary Information) เป็นการนำสารสนเทศปฐมภูมิมาเขียนใหม่ อธิบาย เรียบเรียง วิจารณ์ใหม่ให้เข้าใจง่ายเพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้สารสนเทศ หรือเป็นเครื่องมือช่วยค้นหรือติดตามสารสนเทศปฐมภูมิ เช่น หนังสือ บทความวารสาร บทคัดย่องานวิจัย บทวิจารณ์หนังสือ เป็นต้น
 3สารสนเทศตติยภูมิ (Tertiary Information) เป็นการชี้แนะแหล่งสารสนเทศ 2 ระดับแรก ที่ไม่ได้ให้เนื้อหาสารสนเทศโดยตรงแต่เป็นการชี้แนะแหล่งสารสนเทศปฐมภูมิและทุติยภูมิ เช่น บรรณานุกรม ดรรชนีวารสารและวารสารสาระสังเขป






การวิเคราะห์สารสนเทศ


เป็นการแยกแยะสารสนเทศที่ผ่านการประเมินแล้วว่าตรงตามความต้องการ โดยวิธีการแยกแยะสารสนเทศตามหัวข้อ หรือ ประเด็นย่อยๆ สรุปเนื้อหา
       วิธีการในการวิเคราะห์สารสนเทศคือการรับรู้ การอ่านเนื้อหาของทรัพยากรสารสนเทศที่ผ่านการประเมินแล้วว่า สามารถนำมาใช้งานได้จริงๆ จากนั้นดึงเนื้อหาของสารสนเทศที่สอดคล้องกับประเด็นแนวคิดต่างๆ ที่เราต้องการศึกษา และมีความครบถ้วน แล้วทำการบันทึกเนื้อหาโดยบันทึกเรื่องเดียวกันเอาไว้ด้วยกัน และสุดท้ายคือจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิดเพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป



การสังเคราะห์สารสนเทศ

       เป็นการตีความสารสนเทศจากหลากหลายทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือเกี่ยวข้องกัน แล้วนำมาสรุปให้เป็นประเด็นเดียว หรือ คำตอบเพียงคำตอบเดียว
วิธีการคือการจัดกลุ่มสารสนเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน เอาไว้ด้วยกัน แล้วนำสารสนเทศที่มีแนวคิดเดียวกันมาจัดกลุ่มอีกครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ตามลำดับชั้น จากนั้นนำแนวคิดต่างๆ ที่เราได้สร้างความสัมพันธ์ในแต่ละกลุ่มของแนวคิด มารวบรวมเป็นโครงสร้างใหม่ ในรูปของโครงร่าง หรือ Outlineโดยรวบรวมหัวข้อหรือประเด็นที่เหมือนกันไว้ด้วยกัน หรือตัดที่ซ้ำซ้อนออก เรียงลำดับขั้นตอนของหัวข้อหรือประเด็น
       สุดท้ายคือการประเมินโครงร่าง ที่ได้ทำขึ้น ว่าตอบคำถามในงานของเราได้ครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ครบถ้วน ก็ต้องกลับไปเริ่มที่กระบวนการสืบค้นใหม่



การประเมินคุณภาพเว็บข้อมูลสารสนเท

     การออกแบบและพัฒนาเว็บได้เพิ่มขึ้นโดยลำดับและนับวันจะยิ่งทวีจำนวนขึ้นในปัจจุบันมีเว็บเพจออนไลน์ในระบบอินเทอร์เน็ตนับร้อย ๆ ล้านเว็บแต่มีคำถามสำคัญที่ต้องมาหาคำตอบก็คือ เว็บแบบไหนที่มีคุณภาพดีเว็บแบบใดจึงจะถือว่าเป็นเว็บที่มีคุณค่าและเหมาะสมสำหรับนำมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามกันอยู่เสมอและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเมื่อพิจารณาแบบประเมินเว็บเพจของ ดร.แนนซี อีเวอร์ฮาร์ท (Everhart, 1996)  ภาควิชาบรรณารักษและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดระดับการให้คะแนนเอาไว้อย่างน่าสนใจและน่าจะนำมาขยายความเพื่อประโยชน์ในการประเมินคุณภาพของเว็บสำหรับนักออกแบบและพัฒนาเว็บรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสารสนเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะได้มีแนวทางในการตรวจสอบและประเมินคุณภาพที่สามารถอธิบายเหตุผลได้โดยแนวคิดของอีเวอร์ฮาร์ท จะมีด้วยกัน 9 ด้านคือ

1. ความทันสมัย (Currency)
2. เนื้อหาและข้อมูล (Content and Information)
3. ความน่าเชื่อถือ (Authority)
4. การเชื่อมโยงข้อมูล (Navigation)
5. การปฏิบัติจริง (Experience)
6. ความเป็นมัลติมีเดีย (Multimedia)
7. การให้ข้อมูล (treatment)
8. การเข้าถึงข้อมูล  (Access)
9. ความหลากหลายของข้อมูล (Miscellaneous)


เนื่องจากแนวคิดทั้ง 9 ด้านยังขาดรายละเอียดและเหตุผล ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลและที่
มาของระดับการประเมิน จึงจำเป็นต้องขยายความและชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่ต้องประเมินเว็บไซต์ในแต่ละด้านนั้นคืออะไร   

     1. ความทันสมัย
 ความทันสมัยของเว็บไซต์ จัดเป็นหัวข้อสำคัญของการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เนื่องจากข้อมูลสารสนเทศที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานก็เมื่อข้อมูลนั่นเป็นข้อมูลที่ใหม่ทันต่อสถานการณ์และได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาอย่างเหมาะสมการประเมินเว็บไซต์ในด้านของความทันสมัยควรประเมินในสามส่วนด้วยกันคือ
เว็บไซต์แสดงวันที่ปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดเป็นสิ่งที่แสดงความชัดเจนของเว็บไซต์ว่ามความทันสมัยของข้อมูลระดับใดเพราะเว็บไซต์ที่แสดงถึงวันที่ปรับปรุงข้อมูลทุกวันย่อมแสดงว่าเป็นเว็บที่มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุดสำหรับเว็บบางประเภทเช่น เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ย่อมจะต้องปรับปรุงข่าวสารและข้อมูลของเว็บเป็นปัจจุบันทุกวันก็จะแสดงวันที่ของหนังสือพิมพ์ที่นำข้อมูลมาออนไลน์ทุกวันอยู่แล้ว เป็นตัวอย่างของความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน ในขณะที่เว็บไซต์จำนวนมากไม่ได้แสดงวันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด อันทำให้ไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวดำเนินการเมื่อใด ก็จะเป็นปัญหาในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ 
ดังนั้นเว็บไซต์ที่แสดงวันที่ปรับปรุงครั้งล่าสุด จะแสดงวันที่ปรับปรุงเว็บเอาไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของเว็บ โดยนิยมก็จะนำมาแสดงเอาไว้ด้านล่างของเว็บไซต์ ตัวอย่างแสดงวันที่ปรับปรุงข้อมูลเช่น ปรับปรุงล่าสุด วันอังคารที่ 22  มิถุนายน 2547 
Last updated :  6/22/2004 
แต่ในบางเว็บไซต์ที่แสดงวันเวลาของเว็บในแต่ละวัน ไม่ได้หมายถึง การปรับปรุงเว็บไซต์ แต่เป็นการนำเอาเวลาของเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแสดงที่หน้าเว็บเพจ ไม่จัดเป็นวันเวลาที่ปรับปรุงข้อมูลประโยชน์ของการแสดงวันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดคือ ทำให้ทราบว่าข้อมูลในเว็บได้รับการปรับปรุงเมื่อใดการอ้างอิงข้อมูลในเว็บสามารถแสดงวันที่ปรับปรุงข้อมูล สามารถพิจารณาได้ว่าจะใช้ข้อมูลของเว็บหรือไม่เว็บที่มีมาตรฐานควรจะต้องแสดงวันที่ในการปรับปรุงข้อมูลของเว็บ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ  ความเอาใจใส่และการบำรุงรักษาเว็บของผู้สร้างหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งในความเป็นจริงโปรแกรมที่ใช้ในการสร้างเว็บสามารถกำหนดให้แสดงวันที่ในการปรับปรุงเว็บ โดยอัตโนมัติอยู่แล้วทุกครั้งที่ปรับเปลี่ยนข้อมูลใด ๆ ในเว็บเพจ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการจัดทำเพียงแต่ผู้จัดทำเว็บเพจต้องใส่ใจในรายละเอียดเท่านั้น
เว็บไซต์แสดงการปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอเป็นปัจจุบัน หมายถึง ข้อมูลที่อยู่ในเว็บเป็นข้อมูลที่ทันสมัยและอยู่ในช่วงระยะเวลาปัจจุบันไม่ใช่แค่การแสดงวันที่และเวลาในการปรับปรุงข้อมูลเท่านั้น เพราะวันที่และเวลาที่ปรับปรุงครั้งล่าสุดอาจเป็นเพียงวันและเวลาที่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของเว็บเพจบางอย่าง เช่นเปลี่ยนแปลงสีข้อความ หรือการใส่กราฟิกส์ใหม่ ๆ เข้ามาในเว็บเพจ แต่ข้อมูลในเว็บเพจอาจเป็นข้อมูลที่เก่าและล่าสมัยไปแล้วลักษณะของการปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอเป็นปัจจุบันเช่นข้อมูลขององค์กรหรือหน่วยงานในปี พ.ศ. 2547 ก็ควรมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เช่น
ข้อมูล ณ วันที่21 มิถุนายน 2547 แสดงวันและวันที่ในเว็บไซต์ แต่มีข้อมูลของวันเดือนปีในปีพ.ศ.2545,2546 ขณะที่ข้อมูลที่ควรจะนำเสนอควรเป็นข้อมูลของปีพ.ศ.2547 ด้วยก็ถือได้ว่าข้อมูลของเว็บไม่ได้ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเป็นข้อมูลเก่าของปีที่ผ่านมาแต่ถ้าเว็บไซต์เป็นเว็บที่แสดงรายละเอียดของข้อมูลในอดีตก็ไม่ถือว่า ข้อมูลของเว็บนั้นล้าสมัยเพราะภายในเว็บไซต์ก็ควรมีข้อมูลรายละเอียดที่ผ่าน ๆ มาแล้วในอดีต และควรอย่างยิ่งที่จะเก็บข้อมูลเดิม ๆ เอาไว้ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลหรือแสดงวันที่ปรับปรุงเป็นปัจจุบันก็ได้เพียงแต่ควรมีเว็บเพจใหม่ ๆ ที่มีข้อมูลหรือรายละเอียดที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบันปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ด้วยเพื่อแสดงให้เห็นเว็บไซต์มีการปรับปรุงในทันสมัยและเป็นปัจจุบันปรากฎอยู่ซึ่งแสดงว่าเว็บได้รับการดูแลและพัฒนาข้อมูลอยู่ตลอดเวลาโดยหน่วยงานหรือผู้ดูแล           
    เว็บที่มีมาตรฐานจึงควรแสดงการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเช่น แสดงการอ้างอิงของข้อมูลภายในเว็บเพจ เช่น ข้อมูลที่แสดงอยู่ในเว็บเพจนำมาจากที่ใดเป็นข้อมูลเมื่อวันที่เท่าไหร่อันเป็นรายละเอียดที่จะช่วยทำให้ผู้ใช้บริการของข้อมูลสามารถนำไปอ้างอิงและใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่ทันสมัยอันเป็นสิ่งสำคัญของข้อมูลสารสนเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการกล่าวถึงว่า บางเว็บไซต์ข้อมูลขาดความทันสมัย ไม่เป็นปัจจุบัน
    เว็บไซต์แสดงสถิติของจำนวนการเข้าใช้และปรับปรุงข้อมูลเป็นลักษณะตัวนับจำนวนของเว็บไซต์ที่จะแสดงสถิติจำนวนของผู้ที่เข้าใช้บริการและจำนวนครั้งที่ปรับปรุงข้อมูลอยู่ในรูปของตัวนับจำนวนที่จะแสดงร่วมกับวันที่และเวลาในการปรับปรุงข้อมูลเป็นสิ่งที่แสดงถึงจำนวนผู้เข้าใช้บริการข้อมูลในเว็บและช่วยให้ผู้จัดทำได้ทราบถึงความนิยมและความสำคัญของเว็บเพจเพราะถ้าเว็บเพจที่จัดทำเป็นประโยชน์และข้อมูลเป็นที่ต้องการของผู้ใช้ก็จะมีการเข้าใช้บ่อยครั้ง สามารถบอกได้ว่าเว็บมีความถี่ในการเข้าใช้งานในแต่ละช่วงเวลาระดับใดบ้าง โดยการบอกเวลาที่เริ่มต้นติดตั้งตัวนับจำนวนก็จะทำให้ทราบได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งมีผู้เข้าใช้บริการข้อมูลระดับใด
    แต่สถิติจำนวนการเข้าใช้มีเงื่อนไขสำคัญคือ การเผยแพร่เว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จักด้วย จึงต้องมีความเข้าใจในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เว็บไซต์ ที่เรียกว่าการเพิ่มชื่อเว็บไซต์ (AddURL) เข้าไปยังเว็บประเภทสืบค้นข้อมูลต่าง ๆเมื่อเวลาที่มีการสืบค้นข้อมูลหรือต้องการข้อมูลที่สร้างเป็นเว็บเพจผู้สืบค้นก็จะสืบค้นข้อมูลผ่านเครื่องมือสืบค้นมายังเว็บเพจที่สร้างขึ้นถ้าเว็บจัดทำไม่น่าสนใจหรือมีข้อมูลล้าสมัย ก็จะมีเพียงคนสืบค้นเข้ามาแวะชมแล้วก็ผ่านไปไม่เข้ามาสนใจหรือใช้งานข้อมูลในเว็บเพจนั้นอีก แต่ถ้าข้อมูลในเว็บเพจทันสมัยและมีการจัดทำดีก็อาจถูกนำไปเชื่อมโยงกับเว็บต่าง  ๆ หรือมีการแนะนำให้เข้ามายังเว็บไซต์เหล่านั้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้ตัวนับจำนวนแสดงผลมากขึ้นตามลำดับ

    2. เนื้อหาและข้อมูล
    เว็บไซต์ต้องมีเนื้อหาและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ตรวจสอบและวัดความเป็นเว็บไซต์ที่ดีได้ง่ายรวมทั้งสามารถประเมินคุณค่าของเว็บไซต์ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะถ้าเว็บไซต์มีเนื้อหาข้อมูลที่ตรงตามหลักสูตรและการเรียนการสอนของนักเรียน หรือทำให้เป็นเนื้อหาข้อมูลประกอบการเรียนตามหลักสูตรและน่าสนใจชวนติดตามย่อมเป็นประโยชน์
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเนื้อหาที่นำเสนอบนเว็บไซต์เป็นเนื้อหาที่หาไม่ได้ในห้องสมุดย่อมเป็นเนื้อหาที่มีคุณค่า นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแหล่งเนื้อหาและข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ ที่แตกต่างออกไปจากแหล่งเรียนรู้เดิม ๆ อย่างห้องสมุดเนื้อหาที่นำเสนอนั้นย่อมมีความหมายและเป็นประโยชน์
    การที่เราจะสรุปประโยชน์ของข้อมูลและเนื้อหาที่ติดตั้งในเว็บไซต์หัวเรื่องของเว็บก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพราะเว็บไซต์มากมายที่ตั้งหัวเรื่องของเว็บหรือตั้งชื่อเว็บเอาไว้อย่างดีดูจากหัวเรื่องก็แทบจะเชื่อได้ว่าเว็บนั้นเป็นประโยชน์เช่นเว็บความรู้เรื่องประเทศไทยแต่เมื่อเข้าไปดูเนื้อหากลับกลายเป็นเว็บโฆษณาท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือกลายเป็นบริษัททัวร์ เนื้อหาจึงกลายเป็นเรื่องของการค้ามากกว่าที่จะเป็นความรู้แท้จริง
   สิ่งสำคัญที่สุดของข้อมูลและเนื้อหาในเว็บไซต์ก็คือความถูกต้องของเนื้อหาเป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุดของการออกแบบและพัฒนาเว็บก็คือ ความน่าเชื่อถือของเว็บ และคำตอบก็คือถ้าเนื้อหาของเว็บมีความถูกต้องนั่นคือความน่าเชื่อถือที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ยากที่สุดและหาคำรับรองหรือยืนยันได้ยากผู้ที่สืบค้นเข้ามาในเว็บและต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ก็ย่อมไม่ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนอบนเว็บไซต์นั้นถูกต้องหรือไม่เพราะผู้ใช้ข้อมูลก็เพียงต้องการข้อมูลหรือไม่ค้นหาข้อมูลนำไปใช้ไม่ใช่ผู้ที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ความถูกต้องจึงต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเช่น ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลหน่วยงานที่นำมาจากสื่ออื่น ๆ ที่เคยเผยแพร่แล้ว เช่น การเผยแพร่ข้อมูลโรคติดต่อต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในแผ่นพับใบปลิว ก็นำมาสร้างเว็บไซต์เป็นต้น ข้อมูลจึงจะน่าเชื่อถือมากที่สุดหรือโดยเฉพาะข้อมูลจากตำราโดยตรง
     เมื่อเนื้อหามีความถูกต้องสมบูรณ์สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปคือ เนื้อหาและข้อมูลต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำเว็บไซต์ เนื้อหาและข้อมูลตรงตามชื่อและสอดคล้องกับหน่วยงานที่ดำเนินการอย่างชัดเจน จึงจะถือได้ว่าเว็บไซต์มีความถูกต้องนื้อหาและข้อมูลควรจะมีลักษณะเป็นภาษาเขียนเพื่อให้น่าเชื่อถือและสละสลวย มีลักษณะการใช้ภาษาที่สุภาพ ไม่ใช้ภาษาพูด ไม่หยาบคาย และมีการใช้ภาษาที่เป็นทางการ การพิมพ์ไม่ผิดพลาด การใช้สระ พยัญชนะต่าง ๆ มีความถูกต้องสมบูรณ์ถือว่าเว็บไซต์มีคุณภาพดี
               
    3. ความน่าเชื่อถือ
   เว็บไซต์ที่มีคุณภาพไม่ใช่เพียงแต่ทันสมัย มีเนื้อหาและข้อมูลที่ดี ความน่าเชื่อถือต่อเว็บไซต์เป็นเรื่องสำคัญในจะนำเอาข้อมูลไปอ้างอิงหรือใช้ประโยชน์ เพราะข้อมูลและเนื้อหาจะได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเว็บนั้นน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดก็ควรเป็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ นั่นหมายความว่าผู้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเว็บก็จะพยายามหาข้อมูลจากเว็บที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการทันสมัยและมีข้อมูลเนื้อหาที่ดีแต่ที่สำคัญคือเว็บต้องน่าเชื่อถือนั่นเอง
   ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์นั่นคือผู้จัดทำเว็บเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหา หรือเป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้านนั้นโดยตรงโดยแสดงความรับผิดชอบในเว็บอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นได้จากส่วนที่สงวนลิขสิทธิ์และผู้รับผิดชอบภายในเว็บ ซึ่งนิยมแสดงไว้ด้านล่างของเว็บไซต์ โดยรวมถึงความทันสมัยนั่นคือเวลาที่ปรับปรุงครั้งล่าสุดนั่นเอง 
      ตัวอย่างของความน่าเชื่อถือเช่น

    -  การสงวนลิขสิทธิ์ของเว็บ Copyright ã All Rights Reserved
    -  ผู้รับผิดชอบ Webmaster Prachyanun Nilsook
    - ตำแหน่งหน้าที่ผู้จัดทำ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    -  ติดต่อ Email: prachyanun@hotmail.com โทร : 01-7037515-  ที่อยู่ของหน่วยงาน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม

ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรมีความน่าเชื่อถือสูง เพียงแต่โดเมนเนมก็สามารถบ่งบอกความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน 

ความน่าเชื่อถือของเว็บสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบซึ่งการสร้างความเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเว็บไซต์เพราะมีเว็บไซต์จำนวนมากที่ไม่ทราบที่มาของผู้จัดทำไม่สามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้ไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์เพราะอาจลอกเลียนจากหนังสือหรือผู้อื่นไม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือหน่วยงานที่ชัดเจนไม่มีที่อยู่ที่จะติดต่อหรือมีแหล่งที่แน่นอนโดเมนเนมไม่มาตรฐาน ฯลฯ ดังนั้นค่าน่าเชื่อถือของเว็บไซต์จึงเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพและประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้ประการหนึ่ง


 4.  การเชื่อมโยงข้อมูล
   การประเมินเว็บไซด์ที่ดีควรจะแสดงการเชื่อมโยงไปยังส่วนต่างๆ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และอ่านได้อย่างชัดเจน การเชื่อมโยงภายในเว็บไซด์ จะมีชื่อเรียกว่า ลิงค์ (Link) การลิงค์หรือการเชื่อมโยงนั้น ถ้าหน้าแรกสามารถบอกได้ว่าเว็บไซด์นั้นมีการจัดการอย่างไร มีเงื่อนไขในการเชื่อมโยงอย่างไร และมีอย่างไรที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงไปบ้าง ลักษณะอย่างนี้อาจจะมีหน้าพิเศษต่างหากที่เรียกว่า แผนภูมิเว็บไซด์หรือ site map
อีกคำหนึ่ง สำหรับการเชื่อมโยงในลักษณะทั่วไปของเว็บเพจ คือคำว่า navigation หมายถึงเส้นทางซึ่งเมื่อเปิดเข้าสู่หน้าแรกและมีโฮมเพจ และต้องการเชื่อมโยงหรือไปในเส้นทางใดภายในเว็บไซด์ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า navigation bar ดังนั้น ผู้ที่ออกแบบเว็บไซด์และมีการเชื่อมโยงได้ดี มีการจัดองค์ประกอบได้ดีจะทำให้เว็บไซด์นั้นสามารถเชื่อมโยงได้กันทุกเว็บ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเว็บไซด์
ลักษณะการเชื่อมโยงภายในเว็บไซด์ ควรจะแสดงรูปแบบที่ชัดเจนหรือที่เรียกว่า Hypertext นั้นก็คือ ตัวหนังสือที่มีการเชื่อมโยงจะมีการขีดเส้นใต้ไว้อย่างชัดเจน หรือถ้าไม่มีการขีดเส้นใต้เมื่อเลื่อนเม้าส์ผ่านไปยังบริเวณที่เป็นตัวอักษรจะปรากฏเป็นรูปมือ ซึ่งรูปแบบเว็บไซด์ที่มีคุณภาพและชัดเจน ส่วนที่เป็น Hypertext และมีการเชื่อมโยงนั้นควรวางรูปแบบที่ชัดเจ เมื่อเลื่อนเม้าส์เข้าไปในส่วนที่เป็น Hypertext ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นรูปมือสีและแบ็คกราวน์ของตัวอักษรก็อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ง่ายต่อการสังเกต การเชื่อมโยงที่ดี ตัวที่ทำหน้าที่การเชื่อมโยงควรจะอ่านง่ายและสื่อความหมายชัดเจน เป็นในลักษณะเดียวกันกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซด์ ตัวเชื่อมโยงหรือ ลิงค์ควรจะง่ายต่อการสังเกตและมีขนาดเหมาะสม ตัวเชื่อมโยงควรจะมีเหตุมีผลสอดคล้องกันทั้งกลุ่ม เช่น ถ้ามีเมนูที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงไปยังเว็บเพจต่างๆเมนูทั้งกลุ่มนั้นควรมีลักษณะที่สอดคล้องกัน  ตัวอย่าง เช่น ถ้าทำเป็นร้านหนังสือหรือห้องสมุด เมนูที่เป็นตัวเชื่อมโยงหรือตัวลิงค์ควรจะมีลักษณะรูปหนังสือ ตะกร้าใส่หนังสือ ที่คั่นหนังสือ หรือลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันกับห้องสมุดหรือหนังสือในชุดเดียวกัน
เว็บไซด์ที่มีคุณภาพดี เส้นทางเดินภายในเว็บไซด์หรือการเชื่อมโยงควรจะเป็นในแนวทางเดียวกันในทุกๆ เว็บเพจ หรือที่เรียกว่า มีความสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันในทุกเว็บเพจ เช่น หน้าแรกของโฮมเพจมีลักษณะการเชื่อมโยงที่เป็นปุ่ม (botton) หรือเป็นข้อความ ในเว็บเพจหน้าอื่นๆ ก็ควรจะมีปุ่มหรือตัวเชื่อมโยงลักษณะเดียวกันกับในหน้าโฮมเพจลักษณะของการใช้สีการวางรูปแบบ เช่น ถ้าตัวเชื่อมโยงในด้านบนเป็นแถวเรียงกัน ในทุกๆ หน้าก็ควรจะวางรูปแบบเป็นแบบเดียวกัน คือเป็นแถวในแนวเดียวกันในขณะเดียวกันถ้ารูปแบบของการเชื่อมโยงเป็นแถวแนวตั้งเรียงจากบนลงล่างในหน้าแรกหน้าต่อๆไปควรจะมีลักษณะเดียวกันจะทำให้เว็บไซด์ทั้งเวบมีการเชื่อมโยงหรือเส้นทางเดียเชื่อมโยงเป็นแนวทางเดียวกัน
การเชื่อมโยงในทุกๆหน้าควรจะสามารถเชื่อมโยงกลับไปยังหน้าแรกของเว็บไซด์ได้หรือไปยังหน้าต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ปริมาณของการเชื่อมโยงภายในเว็บไซด์ควรเป็นไปอย่างเหมาะสม ควรมีการเชื่อมโยงไปยังส่วนสำคัญต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรมีการเชื่อมโยงมากเกินไป จนกลายเต็มไปด้วยจุดที่เชื่อมโยง เนื่องจากตัวเชื่อมโยงมักจะมีลักษณะเด่นพิเศษ ดังนั้นจะทำให้ข้อมูลหรือข้อความภายในเว็บเพจไม่จุดเด่นที่น่าสนใจเลย ขณะเดียวกันตัวเชื่อมโยงควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หมายถึงตัวเชื่อมโยงควรจะมีรูปแบบในลักษณะเดียวกันกับจุดประสงค์ของเว็บเพจ เช่น ถ้าเว็บเพจนั้นมีการเชื่อมโยงที่ต้องการให้ค้นคว้าลึกลงไปในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ควรจะมีตัวลิงค์ที่แสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเว็บไซด์นั้น นอกจากนี้ไอคอนหรือปุ่มที่ใช้ในรูปแบบการเชื่อมโยงที่นำมาใช้ควรจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดและน่าสนใจ ดูแล้วเข้าใจว่าผู้ออกแบบต้องการให้มีเชื่อมโยงไปยังส่วนใดของเว็บ เช่น กรณีที่ต้องการใช้ไอคอนให้กลับไปยังหน้าแรกหรือหน้าโฮมเพจ มักจะใช้รูปบ้าน เล็กๆ เป็นสัญลักษณ์ เมื่อในเว็บเพจส่วนใดก็ตามเห็นเป็นรูปบ้านผู้ใช้มักจะตีความหมายว่าถ้าคลิกหรือเลื่อนเม้าส์เข้าไปก็จะกลับไปสู่หน้าโฮมเพจ เช่นเดียวกันลูกศรที่เป็นแถบเลื่อนเมื่อต้องการเลื่อนลงล่าง ก็จะมีลูกศรเป็นไอคอนชี้ลงล่าง เมื่อคลิกก็จะเลื่อนลงไปด้านล่างอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันถ้าต้องการกลับมาด้านบนในกรณีที่เป็นเว็บแถบเลื่อนและมีลักษณะทางยาวลงมาด้านล่าง การออกแบบการเชื่อมโยงในลักษณะนี้อาจจะมีลูกศรชี้ขึ้นบน ผู้ใช้ก็คาดเดาได้ว่าเมื่อคลิกลูกศรแล้วจะกลับขึ้นด้านบนของเว็บเพจ นี่คือลักษณะชัดเจนของตัวเชื่อมโยง

5. การนำไปใช้งานจริง
เว็บเพจที่ดีควรจะมีเนื้อหาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และมีการแสดงผลอย่างรวดเร็จ ในเว็บเพจต้องทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกว่าไม่เสียเวลาไม่ไร้ประโยชน์หรือเว็บเพจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้ออกแบบต้องคำนึงเสมอว่าในการนำไปใช้งานจริงผู้สืบคืนข้อมูลหรือผู้เข้าชมเว็บเพจย่อมเข้ามาเพื่อคิดว่าเว็บเพจที่จัดทำนั้นมีวัตถุประสงค์ตามหัวเรื่องของเว็บเพจ เช่น เว็บเพจมีวัตถุประสงค์ต้องการเผยแพร่ ข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องเอดส์ เมื่อเข้ามาแล้วก็ควรจะเกี่ยวข้องเรื่องราวของเอดส์ ไม่ใช่เป็นการโฆษณาขายยาหรือโฆษณาชวนเชื่อซึ่งลักษณะแบบนี้จะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จะทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกว่าเสียเวลาในการเข้าเยี่ยมชมนอกจากนั้นเนื้อหาและการออกแบบเมื่อนำไปใช้งานจริงควรคำนึงว่าเว็บเพจต้องเป็นที่ดึงดูดสายตาของผู้เข้าชม ทำให้เกิดความน่าสนใจตลอดเวลา และดึงดูดให้ผู้เข้าชมใช้เวลานานในการค้นหาข้อมูล ชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา

6.       ความเป็นมัลติมีเดีย
      ความเป็น  multimedia  สำหรับเว็บไซด์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากเว็บไซด์ต้องออนไลน์อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต ในข้อจำกัดของแบนด์วิท และความเร็วในการนำเสนอ จึงยากที่จะทำให้เว็บไซด์แต่ละเว็บไซด์มีความเป็น multimedia ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็น  multimedia ภายในเว็บไซด์ คือ เสียง ภาพ กราฟฟิก ภาพเคลื่อนไหวควรสอดคล้องกับเนื้อหาภายในเว็บ นอกจากนี้ควรจะเป็น multimedia ที่เพิ่มความสนใจให้ผู้เข้าชม ภาพเคลื่อนไหวที่นำเสนอควรจะมีเวลาที่เหมาะสมและไม่รบกวนเนื้อหาภาพกราฟฟิกที่ใช้ไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไปสามารถแสดงผลหรือโหลดขี้นมาได้อย่างรวดเร็วสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจใน ความเป็น multimedia ของเว็บก็คือ เว็บไซด์ไม่สามารถมีปฎิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมได้ทันที เนื่องจากการออกแบบเว็บไม่สามารถทำให้ใช้เทคนิคหรือกระบวนการได้มากมายอย่างที่เป stand alone ภายในระบบดังนั้นความเป็น multimedia ของเว็บไซด์ จึงหมายถึงการจัดทำภาพประกอบ เสียง ภาพเคลื่อนไหว ภาพวิดีโอ หรือภาพนิ่ง โดยเป็นการเสริมหรือเพิ่มให้เว็บไซด์มีคุณค่า และที่สำคัญ multimedia ที่นำมาใช้ต้องสอดคล้องกับเนื้อหา และเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าชมเว็บไซด์


7.การให้ข้อมูล
ในการให้ข้อมูลภายในเว็บไซด์ ข้อมูลที่สำคัญควรจะเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่มีความสลับซับซ้อน แต่การนำเสนอข้อมูลควรมีการจัดรูปแบบและหมวดหมู่ของข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและใช้งานข้อมูลเหมือน ความลำเอียงเนื่องจากแนวคิดที่ไม่ตรงกันควรได้รับการแก้ไข แต่ละเว็บไซด์ในกลุ่มของพนักงานจะมีเจ้าหน้าที่บางคนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ข้อมูลเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ข้อมูลที่ใช้ควรมีเนื้อหาที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ โดยแสดงได้จากวันเวลาที่ปรับปรุง ขณะเดียวกันเมื่อจัดทำเว็บไซด์ตามวัตถุประสงค์แล้ว เว็บไซด์ควรจะสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเว็บ ถ้าเว็บไซด์นั้นจัดทำได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มนักศึกษา หรือวัยรุ่น ก็จะทำให้เว็บนั้นได้รับความนิยม แสดงถึงคุณภาพของผู้ดำเนินการจัดทำเว็บนั่นเอง
ในการออกแบบเว็บเพจที่ดี การจัดเนื้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญและการเข้าสู่เนื้อหาเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำให้เข้าถึงได้ง่าย และจัดข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ ในที่นี่หมายถึง การให้ข้อมูลเมื่อเข้าเริ่มตั้งแต่หน้าแรก ควรจะมีการจัดการข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญควรวางไว้ในหน้าแรกๆ มีการเน้นหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น มีลักษณะที่เป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย เรียงกันไปตามลำดับความสำคัญ และการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญนั้นควรเข้าถึงได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบเว็บ เว็บที่สวยงามจำนวนมากอาจมีเส้นทางซับซ้อนกว่าที่ผู้เข้าชมการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญในขณะที่เว็บที่ออกแบบอย่างง่ายๆ แต่เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกจะได้รับความนิยมสูงและทำให้ผู้เข้าชมได้รับความสะดวกในการใช้งาน การจัดการรูปแบบของเว็บโดยเฉพาะข้อมูลให้เป็นระบบจะช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงและรู้สึกว่าเว็บนั้นสะดวกต่อการใช้งานแม้ว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้นจะธรรมดา การจัดรูปแบบของข้อมูลที่เป็นระบบและง่ายต่อการค้นหาหรือสืบค้นภายในเว็บไซด์นั้นเป็นเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลของเว็บไซด์ ผู้ออกแบบเว็บควรคำนึงถึงความเรียบง่าย และความเป็นระเบียบ การแบ่งหัวข้อหรือกลุ่มเอาไว้อย่างชัดเจน ในหน้าเว็บไซด์จะช่วยให้ผู้เข้าชมสะดวกในการค้นหา ตัวอย่าง เว็บไซด์ประเภทวาไรตี้ เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งของการจัดการข้อมูลในเว็บไซด์  เว็บไซด์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากจะมีการวิเคราะห์ระดับความสำคัญของข้อมูล และนำเอาข้อมูลที่ต้องการนั้นอยู่ในส่วนแรกของเว็บไซด์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถทำได้สะดวก
เนื้อหาของข้อมูลภายในเว็บเพจ ควรเป็นข้อมูลที่ทันสมัยและตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้งาน เนื่องจากการออกแบบเว็บเพจ เนื้อหาในแต่ละหน้าของเว็บเพจนั้นควรจะมีอายุที่เหมาะสม หมายความว่า เนื้อหาของเว็บที่นำเสนอนั้นต้องไม่อยู่นานเกินไป เช่น การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน อาจติดไว้ประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นเปลี่ยนหัวเรื่องหรือเนื้อหา เพราะการคงเนื้อหาใดไว้อย่างยาวนาน ย่อมทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกว่ายังไม่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล ทำให้ไม่อยากเข้าชมอีก และตัวปรับที่ใช้กับตัวเว็บเพจให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเว็บ เช่น เว็บประเภทวิชาการ ควรใช้คำที่สละสลวย มีความหมายลึกซึ้ง และใช้คำที่เป็นทางการ ในขณะที่เว็บที่เป็นทางการบางเว็บ มีการนำเอาคำพูดในลักษณะที่เป็นภาษาพูดหรือคำศัพท์วัยรุ่นมาใช้  ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นลดลงและถูกมองว่าเว็บนั้นไม่ใส่ใจในสาระเนื้อหา ดังนั้นลักษณะของคำศัพท์ที่ใช้จึงควรเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเว็บและเหมาะสมกับเนื้อหาของเว็บด้วย ผู้ออกแบบเว็บถ้าจะออกแบบเว็บที่มีการจัดข้อมูลให้ง่ายและตรงประเด็น เป็นระบบเป็นระเบียบก็ต้องคำนึงถึงความทันสมัยของเนื้อหาและคำศัพท์ที่ใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

8.การเข้าถึงข้อมูล
  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เว็บไซต์สามารถแสดงผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผู้ใช้เข้าสู่เว็บไซต์   
นั่นหมายถึง เมื่อผู้ใช้ต้องการเข้าสู่เว็บไซต์โดยการพิมพ์ที่อยู่ของเว็บเช่น URL หรือโดเมนเนม (Domain Name) แล้วกดปุ่ม Enter การแสดงผลของหน้าแรกจะต้องปรากฎอย่างรวดเร็วโดยไม่เสียเวลานานจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกพึงพอใจแต่ถ้าเว็บใดออกแบบให้มีกราฟิกส์ ภาพเคลื่อนไหว และเนื้อหาจำนวนมากเว็บนั้นก็จะแสดงผลได้ช้า ก็จะทำให้ผู้ใช้รอและเบื่อหน่ายการให้ผู้ใช้รอบ้างย่อมรับได้ แต่ถ้าผู้ใช้รอนานเกินไปก็อาจเบื่อหน่ายและเปลี่ยนไปเว็บอื่นในที่สุด 
การเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์นอกจากจะแสดงผลรวดเร็วแล้วเว็บไซต์ควรหาได้สะดวกจากเว็บประเภทสืบค้นข้อมูลหรือ Search Engine หรือเว็บได้ Add URL เอาไว้ใน Search Engine เช่น Google หรือ Yahoo ถ้าเป็นในประเทศไทยก็เช่น Sanook,Sansarn ก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นจากเครื่องมือสืบค้นได้รวดเร็ว การโหลดของเว็บได้อย่างรวดเร็วทำให้เสียเวลาน้อยลงในการค้นหาข้อมูล เว็บไซต์ที่แสดงผลจากการค้นหาได้รวดเร็ว ย่อมเป็นที่นิยมของผู้ใช้เพราะค้นเจอเสมอแสดงว่าเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว
ข้อมูลในเว็บเพจและงานกราฟิกส์ต่าง ๆ ควรออกแบบให้แสดงผลได้อย่างรวดเร็วซึ่งการแสดงผลอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากการเลือกใช้รูปภาพที่มีขนาดเล็ก  และเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรอย่างเดียวโดยกราฟิกส์ต่าง ๆ มีไม่มากนักเลือกการใช้สีสรรที่ไม่ใช่กราฟิกส์จะช่วยให้แสดงผลได้เร็วขึ้น รวมทั้งการไม่มีเว็บหลายเฟรมซ้อนกันอยู่ การเข้าถึงข้อมูลกล่าวกันว่าความรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญเว็บที่มีชื่อเสียงหลายเว็บในอดีตออกแบบได้สวยงามตื่นตา มีเทคนิคลูกเล่นแพรวพราวแต่แสดงผลได้ช้า ทำให้หลายเว็บเสื่อมความนิยมลงไป เมื่อเทียบกับเว็บใหม่ ๆ ที่เน้นความรวดเร็วในการแสดงผลเป็นหลักทำให้ผู้ใช้ไม่เสียเวลารอจนเบื่อความรวดเร็วจึงเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบเว็บเป็นจุดแข่งขันและจุดประเมินสำคัญของเว็บ

9.ความหลากหลายของข้อมูล   
ประเด็นสำคัญในส่วนของข้อมูลก็คือเว็บควรมีความหลากหลายและมีเรื่องที่เป็นประโยชน์หลาย ๆ เรื่องมีความน่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อมูลได้ ข้อมูลนั้นก็จะได้ความนิยมและแนะนำกันให้เข้ามาชมอีกกรณีที่เว็บมีข้อมูลไม่มากมายนักแต่เว็บมีข้อมูลสำคัญเพียงพอไม่ยาวเกินไป ไม่สั้นมากเกินไปก็เพียงพอใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม องค์ประกอบในการประเมินอื่น ๆ ของความหลากหลายข้อมูลได้แก่
   9.1 เว็บไซต์ได้รับรางวัล เป็นประเด็นในการประเมินคุณภาพประการหนึ่ง เช่น เว็บได้รับ
รางวัลยอดนิยม หรือเว็บได้รับการโหวตในสาขาใด ๆ หรือเว็บมีการจัดลำดับว่ามีผู้เข้าใช้มาก ล้วนแต่เป็นตัวบ่งบอกคุณภาพได้
9.2 เว็บไซต์ไม่มีเรื่องต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นเว็บที่ให้ข้อมูลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก็ควรได้รับ
การประเมินระดับดี
9.3 เว็บไซต์มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลกับผู้ใช้ เช่น มีการตอบคำถาม มีการฝากข้อมูล
และข้อความและตอบคำถามสม่ำเสมอ แสดงว่าเป็นเว็บที่ดีในการบริการ
9.4 เว็บไซต์ที่มีการสมัครและจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้เอาไว้เป็นความลับ และเมื่อเรียกใช้ก็
มีการกำหนดรหัสเข้าและรหัสผ่านแสดงถึงการบริการและบริหารเว็บอย่างมีคุณภาพได้
9.5 เว็บไซต์มีข้อมูลที่สามารถผิดออกมาทางเครื่องพิมพ์ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลง
แก้ไขใด ๆ ก่อนการพิมพ์ แสดงว่าออกมาเป็นอย่างดีแสดงผลได้อย่างเป็นระเบียบ นำข้อมูลไปใช้ได้โดยตรง
9.6 ข้อมูลที่นำเสนอในเว็บไซต์มีขนาดสั้นและไม่มีองค์ประกอบมากมายจนละเลยข้อมูล  
เว็บนั้นแสดงว่ามีระบบข้อมูลที่ดี
9.7 เว็บไซต์ที่มีเครื่องมือสืบค้นเป็นของตนเอง แสดงว่าเว็บอาจมีขนาดใหญ่แต่มีระบบ
การค้นหาข้อมูลภายในเว็บของตนเองได้ โดยไม่ต้องหาเส้นทางเข้าสู่เว็บอย่างยุ่งยาก


ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการประเมินเว็บไซต์ทางการศึกษาหรือข้อมูลสารสนเทศอันจะเป็น
ประโยชน์กับบุคคลทั่วไปตามแนวคิดทั้ง 9 ด้านล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นในการออกแบบเว็บไซต์ซึ่งเว็บใดที่สามารถออกแบบได้ตามแนวคิดทั้ง 9 ด้านก็ถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่ดีเยี่ยม การจัดลำดับคะแนนก็สามารถเรียงลำดับตามแนวคิดโดยแบ่งเป็นส่วนคะแนนต่าง ๆ ได้ตามลำดับก็จะทำให้ได้แบบประเมินคุณภาพของเว็บไซต์ในลักษณะของการประเมินทางด้านข้อมูลสารสนเทศ อันจะทำให้ทราบได้ว่าเว็บไซต์ใดเหมาะสมและเป็นประโยชน์ผู้ใช้บริการเว็บและผู้ออกแบบเว็บก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นก็จะมีคุณภาพและเป็นเว็บที่ดีบนอินเทอร์เน็ตต่อไป








บรรณานุกรม

Everhart, N. (1996) Web Page Evaluation Worksheet . New York : Division of Library and

Information Science Saint John University.

            http://www.duke.edu/~de1/evaluate.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น